ป้องกันโรคติดต่อ ให้บุตรของท่านรับการฉีดวัคซีน
การสร้างภูมิคุ้มกันคืออะไร
การสร้างภูมิคุ้มกันคือการเริ่มรับวัคซีนเข้าไปในร่างกายของเราเพื่อให้สามารถผลิตแอนติบอดีสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อต้านโรคติดต่อบางประเภท วัคซีนสามารถให้ได้ทางปากหรือการฉีด
ทำไมเด็กถึงต้องการสร้างภูมิคุ้มกัน
สาเหตุของการสร้างภูมิคุ้มกันคือเพื่อลดโอกาสการติดโรคติดต่อของเด็ก นอกจากนั้นหากผู้คนส่วนมากได้รับการฉีดภูมิคุ้มกันและมีภูมิต้านทานแล้ว ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรคติดต่อในชุมชน ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นการปกป้องดูแลสุขภาพของทุกคนและชุมชน
เด็กควรได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อไหร่
การสร้างภูมิคุ้มกันควรเริ่มทำตั้งแต่แรกเกิด และให้วัคซีนชนิดกระตุ้นบางประเภทในเวลาถัดมาเพื่อรักษาภูมิคุ้นกัน
ทำไมเด็กถึงต้องการวัคซีนกระตุ้น?
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันที่สร้างโดยวัคซีนบางประเภทนั้นลดลงตามเวลา ดังนั้นจึงควรให้วัคซีนกระตุ้นเป็นช่วง ๆ เพื่อคอยเสริมภูมิคุ้มกัน
เด็กควรได้รับวัคซีนอะไรบ้างและสามารถรับได้ที่ไหน
คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านวัคซีนป้องกันโรค (SCVPD) ภายใต้ศูนย์คุ้มครองสุขภาพ (CHP) ของกรมอนามัย (DH) ได้แนะนำถึงโปรแกรมการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในวัยเด็กฮ่องกง (HKCIP) ที่มีพื้นฐานมาจากระบาดวิทยาและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การสร้างภูมิคุ้มกันได้รับการจัดทำภายใต้ภาคศูนย์ดูแลสุขภาพสาธารณะที่ได้ปฏิบัติตามกำหนดการของ HKCIP ทารกและเด็กควรได้รับวัคซีนและวัคซีนตัวกระตุ้นประเภทต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรควัณโรค โรคโปลิโอ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคคอตีบ โรคไอกรน (pertussis) โรคบาดทะยัก โรคปอดอักเสบ โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมันและโรคมะเร็งปากมดลูก^ เนื่องจากประเทศและพื้นที่ต่าง ๆ มีโปรแกรมการสร้างภูมิคุ้มกันในวัยเด็กที่แตกต่างกันโดยใช้พื้นฐานจากระบาดวิทยาในพื้นที่ของตนเอง ดังนั้นกรมอนามัยจึงแนะนำให้เด็กรับการสร้างภูมิคุ้มกันจากเขตที่อยู่อาศัยของตนเองเพื่อรับการป้องกันโรคติดต่อในวัยเด็กได้อย่างครอบคลุม
ผู้ปกครองสามารถพาบุตรในช่วงอายุแรกเกิดถึงห้าขวบไปที่ศูนย์สุขภาพแม่และเด็ก (MCHC) ของกรมอนามัยเพื่อรับการสร้างภูมิคุ้มกันได้ ผู้ฉีดวัคซีนจากกรมอนามัยจะไปที่โรงเรียนประถมเพื่อให้บริการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน ผู้ปกครองยังสามารถพาบุตรไปทำการสร้างภูมิคุ้มกันกับแพทย์เอกชนได้ด้วยตนเองอีกด้วย
โปรดเยี่ยมชมwww.fhs.gov.hkสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการต่าง ๆ ของ MCHC และการจองคิว ฯลฯ
นอกเหนือจากวัคซีนที่อยู่ใน HKCIP แล้วเด็ก ๆ ควรได้รับวัคซีนอื่น ๆ อีกหรือไม่
นอกเหนือจากวัคซีนใน HKCIP แล้ว แพทย์เอกชนบางท่านและโรงพยาบาลบางแห่งอาจจัดหาวัคซีนอื่น ๆ ให้ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคติดเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซชนิดบี วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนไวรัสโรต้า วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสเจอี ฯลฯ ผู้ปกครองสามารถรับคำแนะนำจากแพทย์เอกชนและเด็กอาจรับวัคซีนนอกเหนือจากใน HKCIP ได้ตามความต้องการด้านสุขภาพของแต่ละบุคคล
เด็กที่มีอาการไอหรือมีน้ำมูกสามารถได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่
โดยทั่วไป หากเด็กมีอาการตามที่กล่าวข้างต้น แต่มีการกิน การเล่น การนอน และการขับถ่ายปกติ เด็กก็สามารถรับการสร้างภูมิคุ้มกันได้ หากผู้ปกครองรู้สึกกังวล ก็สามารถเลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันออกไปสองถึงสามวันได้เพื่อให้มีเวลาในการสังเกตอาการของเด็ก หากเด็กมีไข้ ผู้ปกครองต้องนำเด็กไปที่คลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป หรือคลินิกแพทย์เวชปฏิบัติเอกชนก่อน และรอให้เด็กอาการดีขึ้นแล้วจึงมารับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไป
ภายใต้สถานการณ์ใดบ้างที่ต้องระงับการสร้างภูมิคุ้มกัน
เด็กส่วนมากสามารถรับการสร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่ในบางสถานการณ์ต้องระงับการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อน หรือ อาจต้องมีการจัดการอย่างพิเศษก่อน หากบุตรของท่านมีอาการใดอาการหนึ่งดังต่อไปนี้ ท่านควรปรึกษากับแพทย์ก่อนที่จะให้บุตรได้รับการสร้างภูมิคุ้มกัน
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องต่าง ๆ :
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด
- ลูคีเมีย มะเร็ง
- โรคเรื้อรังที่ใช้วิธีการรักษาระยะยาว เช่น รังสีบำบัด เคมีบำบัด หรือ การใช้ยาคอร์ติโคสตีรอยด์
- ประวัติการเกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงจากวัคซีนก่อนหน้านี้
- ประวัติการแพ้ยาปฏิชีวนะหรือสารใด ๆ อย่างรุนแรง
- อาการอื่น ๆ ที่วินิจฉัยโดยแพทย์ว่าไม่เหมาะต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน
หากไม่ได้มาตามนัดในวันสร้างภูมิคุ้มกัน หรือขาดวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งไป ผู้ปกครองควรทำอย่างไร
ผู้ปกครองควรทำการนัดเวลาที่ศูนย์สุขภาพแม่และเด็กที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หรือคลินิกแพทย์เวชปฏิบัติเอกชนเพื่อรับการฉีดวัคซีนที่ขาดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ปฏิกิริยาหลังการสร้างภูมิคุ้มกันมีอะไรบ้าง ผู้ปกครองควรจัดการกับปฏิกิริยาเหล่านี้อย่างไร
โดยปกติปฏิกิริยาหลังรับการสร้างภูมิคุ้มกันจะไม่รุนแรง ซึ่งประกอบด้วยไข้ต่ำ อาการหงุดหงิดและอาการบวมเล็กน้อยหรืออาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์สุขภาพแนะนำให้ผู้ปกครองสามารถให้ยาพาราเซตามอลแก่บุตรได้เพื่อลดอาการไข้หรือบรรเทาความเจ็บปวด (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) ผู้ปกครองยังสามารถใช้ผ้าขนหนูเย็นประคบบริเวณที่เจ็บเพื่อลดความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวได้อีกด้วย หากเด็กมีอาการไม่สบายตัวนานเกิน 24 ชั่วโมง ไข้ขึ้นสูงถึง 40 °C (104°F) หรือมากกว่า หรือมีอาการบวมเพิ่มขึ้นและยังคงมีอาการเจ็บรอบบริเวณที่ฉีดวัคซีนหลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ติดต่อแพทย์
ปฏิกิริยาโต้กลับที่รุนแรงมีอะไรบ้าง ผู้ปกครองควรทำอย่างไร
ปฏิกิริยาโต้กลับที่รุนแรงจากการสร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ยากมาก สัญญาณและอาการต่าง ๆ ประกอบไปด้วย หน้าซีด ชีพจรเต้นรัว หายใจลำบาก เกิดผื่นคัน และหมดสติภายในไม่กี่นาทีหรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการรับวัคซีน
ผู้ปกครองควรพาบุตรที่มีอาการข้างต้นนี้ไปที่แผนกอุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินทันทีเพื่อทำการรักษา และต้องแจ้งแพทย์เกี่ยวกับประเภทและเวลาที่ได้รับวัคซีน
ผู้ปกครองควรทำอย่างไรกับประวัติการสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากบุตรได้ทำการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในวัยเด็กทั้งหมดแล้ว?
ประวัติการสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเอกสารที่สำคัญมาก และผู้ปกครองควรเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย
ปรแกรมการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในวัยเด็ก Hong Kong
อายุ/ชั้นเรียน | การสร้างภูมิคุ้มกันที่แนะนำ |
---|---|
เด็กแรกเกิด | วัคซีนโรควัณโรค (BCG) วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบบี - เข็มแรก |
1 เดือน | วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบบี - เข็มที่สอง |
2 เดือน | วัคซีน DTaP-IPV - เข็มแรก วัคซีนโรคปอดอักเสบ - เข็มแรก |
4 เดือน | วัคซีน DTaP-IPV - เข็มที่สอง วัคซีนโรคปอดอักเสบ - เข็มที่สอง |
6 เดือน | วัคซีน DTaP-IPV - เข็มที่สาม วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบบี - เข็มที่สาม |
12 เดือน | วัคซีนโรคหัด คางทูมและหัดเยอรมัน (MMR) - เข็มแรก วัคซีนโรคปอดอักเสบ - เข็มกระตุ้น วัคซีนโรคอีสุกอีใส - เข็มแรก |
18 เดือน |
วัคซีน DTaP-IPV - เข็มกระตุ้น |
ประถมศึกษาปีที่ 1 | วัคซีนโรคหัด คางทูม หัดเยอรมันและอีสุกอีใส (MMRV) - เข็มที่สอง* วัคซีน DTaP-IPV - เข็มกระตุ้น |
ประถมศึกษาปีที่ 5 | วัคซีนโรคติดเชื้อเอชพีวี - เข็มแรก^ |
ประถมศึกษาปีที่ 6 | วัคซีน dTap-IPV - เข็มกระตุ้น วัคซีนโรคติดเชื้อเอชพีวี - เข็มที่สอง^ |
วัคซีน DTaP- IPV: วัคซีนโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรนแบบไม่มีเซลล์และโรคโปลิโอเชื้อตาย
วัคซีน dTap-IPV: วัคซีนโรคคอตีบ (ลดขนาดยา) โรคบาดทะยัก โรคไอกรนแบบไม่มีเซลล์ (ลดขนาดยา) และโรคโปลิโอเชื้อตาย
*เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1/7/2018 เป็นต้นไปจะได้รับวัคซีนตอนอายุ 18 เดือนในศูนย์สุขภาพแม่และเด็ก เด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1/1/2013 และ 30/6/2018 จะได้รับวัคซีน MMRV ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
^ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2019/20 นักเรียนหญิงที่เข้าเกณฑ์จะได้รับวัคซีน 9-valent HPV เข็มแรกในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และได้รับเข็มที่สองในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นปีการศึกษาถัดไป
อย่าลืมทำการติดตามผลการสร้างภูมิคุ้มของบุตรของท่านหากท่านกำลังเดินทางออกจาก Hong Kong
กรุณาติดต่อสายด่วนข้อมูล 24 ชั่วโมงที่เบอร์ 2112 9900 เพื่อเข้าถึงที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของ MCHC
สำหรับข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ สายด่วนสุขศึกษา(ภาษาจีนกวางตุ้ง ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนกลาง) ที่เบอร์ 2833 0111 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์บริการอนามัยครอบครัว จากกรมอนามัยที่ http://www.fhs.gov.hk.