พัฒนาการเด็ก 3 ตั้งแต่หนึ่งถึงสามเดือน

(เนื้อหาปรับปรุงใหม่ 12/2019)

เมื่อเข้าสู่เดือนที่สอง ท่านอาจจะสังเกตเห็นความแตกต่างในทารกของท่านเมื่อเทียบกับเดือนแรก ทารกจะใช้เวลานอนน้อยลงและแสดงความสนใจในสิ่งรอบข้างมากขึ้น เขาจะฟังเสียงต่าง ๆ และฟังเสียงการพูดคุยของผู้คน เมื่อท่านเล่นกับเขา เขาจะมองมาที่ท่านและยิ้มตอบรับ การเคลื่อนไหวของเขาจะคล่องแคล่ว มีจุดประสงค์ และเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ในช่วงสุดท้ายของเดือนที่สาม ทารกของท่านจะสามารถ:

เคลื่อนไหว

  • เคลื่อนไหวคล่องแคล่วขึ้นและดีขึ้นจากการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ยืดขาและเตะด้วยแรงที่มากขึ้น
  • ยกศีรษะและอกเมื่อนอนคว่ำและประคองร่างกายตนเองด้วยปลายแขนทั้งสองข้าง
  • ยกศีรษะตั้งตรงพอสมควรได้นานเมื่ออยู่ในท่านั่ง
  • แบมือเป็นส่วนมาก
  • จับของเล่นเด็กที่เขย่ามีเสียงที่วางบนฝ่ามือได้
  • ยกมือขึ้นมาที่ปากและดูด
  • ยกมือทั้งสองข้างขึ้นพร้อมกันและเล่นกับนิ้วมือตนเอง
  • พยายามตีวัตถุที่ห้อยอยู่ด้วยร่างกายหรือแขน

การมองเห็น

  • สำรวจสิ่งรอบข้างด้วยสายตา
  • มองใบหน้ามนุษย์อย่างตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้าผู้ปกครอง
  • จดจำและสนใจที่จะมองคนรู้จักในระยะไกล (ระยะหลายฟุตหรือ 1 หรือ 2 ม.)
  • ขยับศีรษะและกรอกตาจากซ้ายไปขวาเพื่อมองตามวัตถุเคลื่อนที่
  • มองและเล่นมือตนเอง

การได้ยินและการพูด

  • หันศีรษะตามทิศทางของเสียง เช่น เสียงของแม่
  • ฟังเพลง
  • ยิ้มให้เสียงที่คุ้นเคย โดยเฉพาะเสียงของแม่
  • เริ่มลอกเลียนบางเสียง
  • เริ่มกระซิบหรือเปล่งเสียงต่าง ๆ เช่น เสียง "อา" "โอ"

การสื่อสารทางสังคม

  • ใช้การยิ้มแทนการสื่อสาร โดยเฉพาะกับคนรู้จัก
  • เลียนแบบการแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าของผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า
  • สื่อสารความรู้สึกและความต้องการโดยการร้องไห้ กระซิบ แสดงสีหน้าต่าง ๆ และเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ร่าเริงเมื่อเล่นด้วยหรืออาจร้องไห้เมื่อหยุดเล่น

การสนับสนุนพัฒนาการของทารก

ที่ช่วงอายุนี้เขาต้องการการยืนยันบ่อยครั้งเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย การช่วยสร้างความรู้สึกที่ปลอดภัยให้เขา เขาจะค่อย ๆ พัฒนาความมั่นใจและความเชื่อมั่นที่จะทำให้เขาแยกออกจากท่านได้และทำให้เขาพึ่งพาตนเองได้และกลายเป็นบุคคลที่มีความมั่นใจในอนาคต

ท่านสามารถทำอะไรได้บ้าง:
  • ตอบรับความต้องการของบุตร
  • โอบกอดและอุ้มบุตร
  • พูดคุยและร้องเพลงให้บุตรฟัง
  • ให้เขาได้สำรวจสิ่งแวดล้อมและของเล่นด้วยสายตาจากท่าต่าง ๆ นอกเหนือจากการนอนเอนบนเตียง ให้เขานอนคว่ำ (ภายใต้การดูแลจากผู้ใหญ่) จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอของเขา เมื่อเขาสามารถประคองศีรษะตนเองได้ค่อนข้างดีแล้ว ให้อุ้มเขาหันหน้าออกเพื่อให้เขาได้มองไปรอบ ๆ ในขณะที่ท่านเดิน
ของเล่นที่ท่านเลือกได้:
  • ของเล่นเด็กที่เขย่าได้สำหรับให้ทารกจับ
  • โมบายที่มีสีสันสดใส
  • ของเล่นหรือกระจกแบบไม่แตกที่ติดอยู่กับข้างเตียงเด็กเพื่อให้ทารกส่องและและพยายามเอื้อมจับ
  • เพลงฟังสบาย ๆ จากกล่องดนตรีหรือแผ่นซีดี

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงแนวความคิดทั่วไปเกี่ยวกับการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตในบุตรของท่านเท่านั้น ทารกแต่ละคนมีความพิเศษและจังหวะของพัฒนาการที่หลากหลายนั้นมักเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องวิตกจนเกินไปหากทารกของท่านใช้ช่วงเวลาที่แตกต่างเล็กน้อยหรือไม่สามารถมีความสามารถบางอย่างในบางช่วงอายุ นั่นอาจเป็นเพียงสัญญาณของความต้องการการดูแลเอาใจใส่มากขึ้นก็ได้

ในตอนท้ายของช่วงเวลานี้ ให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลหากทารกของท่าน

  • ดูตัวอ่อนหรือแข็งทื่อมากเกินไปในการควบคุมตัวเอง
  • ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายและไม่ประคองศีรษะชั่วคราวเมื่อนอนคว่ำ
  • กำมือตลอดเวลาและไม่จับของเล่นที่อยู่ในมือ
  • ไม่มองมือตนเอง
  • ไม่มองตามวัตถุเคลื่อนที่เมื่ออยู่ใกล้ระยะสายตา
  • ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับกับเสียงดัง
  • ไม่ส่งเสียงใด ๆ
  • ไม่ยิ้มเพื่อตอบรับเสียงหรือใบหน้าของท่าน

หากท่านมีความกังวลหรือคำถามใด ๆ ปรึกษาพยาบาลหรือแพทย์ที่ MCHC หรือแพทย์ครอบครัว/กุมารแพทย์ของท่าน

เรามีชุดเวิร์กชอปและแผ่นพับ "การเลี้ยงดูอย่างมีความสุข!" สำหรับผู้ปกครองที่ตั้งครรภ์ ผู้ปกครองของทารกแรกเกิดและเด็กก่อนวัยเรียน โปรดติดต่อบุคลากรทางการบริการสุขภาพของเราสำหรับข้อมูล