การทำความเข้าใจพัฒนาการของบุตรของท่าน สำหรับพ่อแม่ของเด็กก่อนวัยเรียน
การเริ่มต้นเข้าเตรียมอนุบาลหมายถึงก้าวใหม่ที่สำคัญในด้านพัฒนาการของบุตรของท่าน นอกเหนือ จากครอบครัวแล้วช่วงก่อนวัยเรียนดังกล่าวยังมีบทบาทสำคัญในการอบรมการเรียนรู้ด้านความรู้และทักษะต่างๆ ของบุตรของท่าน การสื่อสารอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ปกครองและคุณครูจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเขาได้อย่างแน่นอน
ในฐานะพ่อแม่ เราทุกคนต้องการให้บุตรของเรามีสมรรถภาพที่ปกติและสมดุลในด้านความคิด ภาษา การเคลื่อนไหวร่างกาย การดูแลตนเอง และ ทักษะทางสังคมตลอดจนพฤติกรรม อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ทำให้กังวลหากบุตรนั้นปฏิบัติไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความกังวลจนเกินเหตุผู้ปกครองและคุณครูควรที่จะคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ เมื่อทำการสังเกตสมรรถภาพเด็ก:
- พัฒนาการของเด็กเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตามขั้นตอนแบบหนึ่ง แต่ว่าเด็กแต่ละคนก็มีระดับในการพัฒนาของเขาเองและคาดว่ามีความแตกต่างกันระหว่างแต่ละบุคคล
- เด็กทุกคนมีข้อเด่นและข้อด้อยของเขาเอง เป็นความสมบูรณ์ตามธรรมชาติที่เด็กจะมีพัฒนาการในด้านหนึ่งที่โดดเด่น แต่ก็จะมีพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่ใกล้เคียงหรือด้อยกว่า
- สมรรถภาพของเด็กจะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม การสื่อสารระหว่างผู้ปกครองและคุณครูจะช่วยสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมโดยรวมของเด็กได้ดีขึ้น
- อายุของเด็กในชั้นเรียนอาจจะแตกต่างกันมาก เด็กที่อายุน้อยกว่าอาจต้องใช้เวลามากกว่า รวมถึงต้องการคำแนะนำในการพัฒนาความรู้และทักษะบางด้าน ผู้ปกครองและคุณครูควรปรับความคาดหวังให้เหมาะสม
หากพัฒนาการของเด็กทำให้เกิดความกังวล ผู้ปกครองและคุณครูอาจเฝ้าสังเกตสมรรถภาพของเด็กหลังจากปรับตัวเข้ากับชีวิตในโรงเรียนไปสักพัก โดยระลึกไว้ว่าเด็กก็ยังต้องเรียนรู้และเติบโตต่อไปอีก อย่าได้ตื่นตระหนกหากเด็กมีปัญหาเพียงชั่วขณะหนึ่ง หรือเขามีพัฒนาการด้านความสามารถเฉพาะด้านที่ช้าไปหนึ่งหรือสองขั้นของพัฒนาการเฉพาะด้าน ( เช่น ภาษา ความคิด การเคลื่อนไหวทั้งร่างกาย หรือการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด การดูแลตนเอง หรือพฤติกรรม) อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีสมรรถภาพที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นโดยตลอด ทางผู้ปกครองและคุณครูควรหารือกันว่าควรจะรับสถานการณ์นี้อย่างไร
รายละเอียดต่อไปนี้คืออาการที่ผู้ปกครองและคุณครูควรให้ความสนใจเป็นพิเศษเมื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก
ภายหลังจากการเข้าร่วม K-1 (อายุ 3 ถึง 4 ขวบ) ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เด็กนั้นยังคง:
พัฒนาการด้านความคิด
- ไม่สามารถเข้าใจถึงหลักการพื้นฐานได้ อย่างเช่น เล็ก และใหญ่
- แสดงถึงความลำบากในการทำความเข้าใจความหมายของ "หนึ่ง" หรือ "สอง"
- ไม่สามารถอธิบายการทำงานของสิ่งของทั่วๆ ไป อย่าง ช้อนใช้สำหรับทานอาหาร กรรไกรใช้สำหรับตัด
- ไม่ร่วมเล่นสวมบทบาท เช่น เล่นเป็นหมอ เล่นทำครัวกับชุดเครื่องครัวของเล่น เป็นต้น
พัฒนาการด้านภาษา
- ไม่สามารถระบุและบอกชื่อรูปและสิ่งของทั่วไป
- ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ เช่น "เอารถไปใส่ไว้ในกล่องของเล่น"
- ไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ ว่า"ใช่/ไม่ใช่"
- ไม่พูดเป็นวลีสั้นๆ เช่น "ป๊ะป๋า เอา คุกกี้"
- แสดงความสับสนในการทำความเข้าใจหรือใช้คำนาม เช่น "หนู เอา บิสกิต" หรือ "เธอ เอาให้ ป๊ะป๋า"
- ไม่สามารถเลียนเสียงเพลงกล่อมเด็กได้
- พูดไม่ชัด
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
- ล้มง่ายๆ ตอนเดิน
- ต้องการความช่วยเหลือในการเดินขึ้น/ลงบันได
- แสดงการใช้นิ้วไม่ถนัด เช่นการแกะห่อลูกอม การเปิดหน้าหนังสือ หรือการเล่นดินน้ำมัน
- ไม่สามารถลอกเส้นแนวนอนและแนวตั้งได้
- แสดงการเปิดหรือปิดฝาขวดแบบบิดเกลียวได้ลำบาก
ทักษะการดูแลตัวเอง
- ไม่สามารถบอกความต้องการขับถ่าย และปัสสาวะราดในช่วงกลางวันบ่อยครั้ง
- ไม่สามารถถอดเสื้อยืด รองเท้า และถุงเท้าหลวมๆ ได้
- แสดงความยุ่งยากและลำบากตอนใช้ช้อน
พัฒนาการด้านสังคมและพฤติกรรม
- แสดงความสนใจเด็กคนอื่นน้อยหรือไม่สนใจเลย ชอบเล่นคนเดียว
- ไม่ชอบสบตา และไม่ค่อยสื่อสารกับคนอื่น
- ไม่ค่อยเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นให้ดูสิ่งที่เขาสนใจ
- เกาะติดและไม่ยอมห่างคนดูแลหลักในสถานการณ์ทั่วไป
ภายหลังจากการเข้าร่วม K-2 (อายุ 4 ถึง 5 ขวบ) ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เด็กนั้นยังคง:
พัฒนาการด้านความคิด
- ไม่สามารถแยกวัตถุสองอย่างตามขนาด ความสูง หรือความยาวได้
- ไม่สามารถแยกประเภทหรือจับคู่สิ่งของในกลุ่มเดียวกันได้ เช่น รองเท้ากับถุงเท้า ถ้วยกับจาน
- มีความลำบากในการทำความเข้าใจหลักการตัวเลขพื้นฐาน เช่นการนับสิ่งของ 2 ถึง 3 ชิ้นให้ถูกต้อง
- ไม่สามารถจำสิ่งของที่เพิ่งเห็นได้ 1 ถึง 2 ชิ้น
พัฒนาการด้านภาษา
- แสดงความลำบากในการทำความเข้าใจประโยคยาวๆ เช่น "เอารถของเล่นไปใส่กล่องที่อยู่ข้างโต๊ะ"
- ไม่เข้าใจเรื่องที่เล่าไป
- ไม่พูดเป็นประโยคง่ายๆ เช่น "หนูชอบเล่นรถ"
- ไม่สามารถถามคำถามว่า"ใคร"หรือ"อะไร" ได้
- ไม่สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ธรรมดาๆ ได้เมื่อได้รับการแนะนำ
- พูดไม่ชัด
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
- เดิน วิ่ง หรือ ปีนป่าย ได้ไม่คล่องและอาจล้มได้ง่าย
- ไม่สามารถโยน และรับ หรือเตะบอลที่กลิ้งอยู่ได้
- ใช้กรรไกรได้ลำบาก
- ไม่สามารถลอก วงกลม เส้นทะแยง คำ หรืออักษรง่ายๆ เช่น "十", "日", "人", "C", "X"
ทักษะการดูแลตัวเอง
- ไม่สามารถแต่งตัวให้ตัวเองได้ เช่นถกกางเกงลง หรือดึงการเกงขึ้น ปลดกระดุมเม็ดใหญ่ๆ
- ไม่สามารถล้างและเช็ดมือให้แห้งด้วยตนเองได้
- ต้องมีคนช่วยพาไปปัสสาวะ
พัฒนาการด้านสังคมและพฤติกรรม
- ไม่สนใจเด็กคนอื่น ไม่ค่อยเข้าไปคุยกับคนอื่น
- ไม่ชอบและรู้สึกประหม่าในการเข้าร่วมกลุ่มเล่นเกม
- ไม่แสดงความตั้งใจที่จะแบ่งปันหรือร่วมมือกับเด็กคนอื่น
- ไม่เข้าใจกฎหรือไม่รอให้ถึงรอบของตนเอง
- โวยวายง่าย และแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังจากการเข้าร่วม K-3 (อายุ 5 ถึง 6 ขวบ) ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เด็กนั้นยังคง:
พัฒนาการด้านความคิด
ไม่สามารถเข้าใจถึงความรู้ทั่วไป เช่น "เมื่ออากาศหนาวผู้คนปฏิบัติอย่างไร?", "อะไรที่มีสี่ล้อ?"
- เข้าใจเรื่องปริมาณได้ลำบาก อย่างเช่นการนับสิ่งของ 4 ถึง 6 ชิ้นได้ถูกต้อง
- ไม่สามารถบอกสีหรือรูปร่างได้สองสามแบบ
- ไม่สามารถระบุและอ่านตัวเลข, ตัวอักษร หรือคำง่ายๆ เช่น "人", "口", "日", 'A', "B"
- ตามเพื่อนร่วมชั้นไม่ทันอย่างเห็นได้ชัดในการเรียนรู้ทักษะหรือความรู้
พัฒนาการด้านภาษา
- มีความลำบากในการเข้าใจประโยคที่ซับซ้อนเช่น "หนูไม่ควรทานข้าวโดยที่ไม่ได้ล้างมือก่อน"
- ไม่สามารถ ทำตามคำสั่งที่ได้ฟัง อย่าง เช่นรับคำสั่งทางโทรศัพท์
- ไม่สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์หรืออธิบายภาพได้
- ไม่สามารถตอบสนองอย่างเหมาะสมและพูดคุยในหัวข้อนั้นๆ เมื่อคุยกับคนอื่น
- จำศัพท์ได้น้อยและไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเหมาะสม
- ไม่สามารถพูดได้คล่องแม้ตอนที่ผ่อนคลาย
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
- ไม่สามารถยืนขาเดียวได้
- ปีนป่ายโครงเหล็กที่สนามเด็กเล่นได้ไม่คล่องหรือไม่มั่นใจ
- มีความลำบากในการลงสีภายในกรอบ
- ทำงานศิลปะง่ายๆ ได้ไม่คล่อง เช่น การตัด ทากาว และนำไปติด
- จับดินสอได้ไม่แน่น และคัดลอกคำได้ช้า
ทักษะการดูแลตัวเอง
- ไม่สามารถสวมและถอดเสื้อผ้าได้ด้วยตนเอง
- ไม่สามารถบิดผ้าเช็ดตัวให้แห้ง และล้างหน้าของเขาเองได้ด้วยตนเอง
- ไม่รู้วิธีแปรงฟัน
- ไม่สามารถทานอาหารเองโดยใช้ ช้อน ส้อม หรือตะเกียบได้
พัฒนาการด้านสังคมและพฤติกรรม
- มีอาการเขินอายและขี้กลัวมากเกินไป ไม่ค่อยกล้าพูดกับคนแปลกหน้า
- มีอารมณ์ไม่คงที่และอารมณ์เสียได้ง่าย
- ไม่เข้าใจกฎ ไม่ร่วมมือกับเพื่อนในการเล่นเกมเป็นกลุ่ม
- ดูเอาแต่ใจ และไม่เข้าใจความรู้สึกคนอื่น
- ไม่สนใจและว่อกแว่กในชั้นเรียนได้ง่าย
- กระสับกระส่าย ไม่อยู่นิ่ง และช่างพูด
- ไม่ยอมทำตามคำสั่งและแสดงพฤติกรรมชอบความรุนแรง
หากเด็กแสดงอาการที่กล่าวมาอย่างต่อเนื่อง คุณครูควรที่จะใช้ระบบการส่งเรื่องต่อภายใต้ บริการด้านพัฒนาการของเด็กแบบครบวงจร และส่งต่อเรื่องพัฒนาการของเด็กดังกล่าวให้กับศูนย์สุขภาพเพื่อแม่และเด็ก (MCHC - Maternal and Child Health Centre) ผู้ปกครองสามารถติดต่อ MCHC ได้ด้วยตนเองเพื่อทำการนัดหมาย พัฒนาการและการเติบโตของเด็กจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงปีแรกๆ หลังจากเกิดมา การระบุและการแก้ไขอย่างรวดเร็วสามารถช่วยการพัฒนาและการปรับตัวเข้ากับชีวิตของเด็กในอนาคต
บริการด้านพัฒนาการของเด็กแบบครบวงจร (CCDS)
CCDS ได้ถูกตั้งขึ้นเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ปี 2005 จากการร่วมมือของกรมอนามัย กรมสังคมสงเคราะห์ สำนักงานการศึกษา และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านโรงพยาบาล จากการจัดการให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา และสังคมสงเคราะห์ ทาง CCDS ได้มุ่งเป้าไปที่การจำแนกความต้องการต่างๆ ดังกล่าวของเด็กและครอบครัวของเขาแต่เนิ่นๆ เพื่อการจัดบริการที่เหมาะสมให้กับพวกเขาได้ทันท่วงที
ได้มีการพัฒนาระบบการส่งเรื่องต่อและตอบรับภายใต้ CCDS เพื่อให้นักวิชาการด้านการศึกษาชั้นอนุบาลได้ระบุและแจ้งเรื่องของเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับ MCHC เพื่อทำการประเมินและติดตามผล หากคุณครูหรือผู้ดูแลเด็กสงสัยว่าเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพ พัฒนาการ หรือพฤติกรรม พวกเขาสามารถส่งแบบฟอร์มการส่งเรื่องต่อไปยัง MCHC โดยตรงเมื่อได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง MCHC จะทำการติดต่อผู้ปกครองและทำการนัดหมายสำหรับเด็กคนดังกล่าวหลังจากที่ได้รับการส่งเรื่องต่อ เด็กจะได้รับการส่งตัวไปที่คลีนิกเฉพาะทางสำหรับการประเมินเพิ่มเติมหรือการติดตามผลที่จำเป็น
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาเข้าไปดูที่ลิงก์ดังต่อไปนี้:
www.edb.gov.hk/en/edu-system/preprimary-kindergarten/comprehensive-child-development-service/index.html
สำหรับการสอบถามเกี่ยวกับ CCDS หรือพัฒนาการของบุตรของท่าน กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ MCHC ที่อยู่ใกล้บ้าน
บริการสุขภาพครอบครัว
กรมอนามัย
สายด่วนบริการสุขภาพครอบครัว 2112 9900
เว็บไซต์บริการสุขภาพสำหรับครอบครัว : www.fhs.gov.hk